ข่าวสาร

จิตสำนึกวิทยาศาสตร์ สร้างการวิจัย และนวัตกรรม

          ความจำเริญทางเศรษฐกิจเกิดจากการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าทั้งทรัพยากรมนุษย์และทรัพยากรธรรมชาติในการผลิตสินค้าและบริการที่สร้างมูลค่าเพิ่มและสนองความต้องการของตลาด ขีดความสามารถในการใช้ทรัพยากรเพื่อการผลิตขึ้นอยู่กับระดับการพึ่งตนเองของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นสำคัญ

          ประเทศใดพึ่งตนเองทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ในขอบเขตที่จำกัดขีดความสามารถในการใช้ทรัพยากรก็มักจำกัดเช่นกัน ถือเป็นอุปสรรคต่อความเจริญทางเศรษฐกิจของประเทศนั้น หากจะมีความจำเริญบ้าง ก็เป็นความจำเริญที่ปราศจากฐานรากที่มั่นคง และไปไม่ได้ไกล ด้วยเหตุดังกล่าวนี้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงมีบทบาทที่โดดเด่นที่สุดในกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจ ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และในอนาคต
 
         ความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาจากการวิจัย (research) มิได้เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ "การวิจัย" ซึ่งหมายถึงการศึกษาค้นคว้าอย่างมีระบบ เพื่อให้ได้ความรู้ ข้อเท็จจริง หรือการประมวลข้อมูล ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความก้าวหน้าโดยปราศจากข้อสงสัยใด ๆ ทั้งจากทฤษฎีและการวิเคราะห์ข้อมูล ว่าความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด ก่อให้เกิดความจำเริญทางเศรษฐกิจของโลกในช่วงเวลา 200-300 ปีที่ผ่านมา นอกจากนั้น ยังเป็นที่ยอมรับกันว่าความจำเริญที่จะต่อเนื่องไปในอนาคต ก็จะต้องถูกขับเคลื่อนโดยความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
 
         จำเป็นจะต้องให้เข้าใจ ว่าความก้าวหน้าดังกล่าวนั้นรวมถึงความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์สังคม (social sciences) และเทคโนโลยีสังคม (social technology) ด้วย เพราะความก้าวหน้าทั้งสองบริบทจะต้องดำเนินไปด้วยกันในกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสังคม ที่มีบทบาทเป็นพิเศษ คือ การประกอบการและการบริหารจัดการธุรกิจ
 
         นอกจากนั้น ก็ยังจำเป็นที่จะต้องเข้าใจด้วยว่า แม้นวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในทั้งสองบริบทข้างต้นจะมาสำเร็จประโยชน์ร่วมกันที่ "การผลิต" อันเป็นหัวใจของเศรษฐกิจ หากการนั้นก็ยังหาใช่ปรากฏการณ์อันมีลักษณะเป็นอัตโนมัติ เพราะมีที่มาต่าง ๆ กัน 
 
ภารกิจในการเชื่อมโยงทั้งสองสิ่งเข้าด้วยกัน และให้สนองรับซึ่งกันและกัน เป็นความลำบากยากยิ่ง ซึ่งมิอาจจะกระทำให้ลุล่วงไปได้ด้วยการกล่าวสุนทรพจน์ที่เร้าใจ และแม้กระทั่งการประกาศให้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่จูงใจ
 
          ความสำเร็จของการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการพัฒนาเศรษฐกิจที่ปรากฏในประวัติศาสตร์ของประเทศต่างๆมิได้เกิดจากสุนทรพจน์หรือสิทธิประโยชน์ หากเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ขยายออกไปจากสถานะการพึ่งตนเองได้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไปสู่ การผลิตสินค้า และ บริการ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและสนองความต้องการของตลาด 
 
          สำหรับปัจจัยที่เชื่อมวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และเศรษฐกิจก็คือ "การวิจัยและพัฒนา" (research and development)ซึ่งเป็นการวิจัยที่มุ่งจะประยุกต์ใช้ "การประดิษฐ์/สิ่งประดิษฐ์" (invention) ในการผลิตสินค้าและบริการที่สร้างมูลค่าเพิ่มและสนองความต้องการของตลาดในลักษณะที่เรียกว่า "นวัตกรรม" (innovation) ซึ่งรวมถึงการปรับปรุงสิ่งที่มีอยู่เดิมและการผลิตสิ่งใหม่ ๆ
 
          นวัตกรรมอาจเป็นผลจากการค้นคว้าทดลองในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก็ได้ หรือเป็นความริเริ่มจากธุรกิจและการตลาดก็ได้ หากการตัดสินใจเชื่อมโยงผลงานวิจัยและพัฒนากับการผลิตเป็นความรับผิดชอบของ "ผู้ประกอบการ"
 
          ในกิจการธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งผู้บริหารตระหนักในความจำเป็นที่ยิ่งใหญ่ของการวิจัยและพัฒนากับนวัตกรรมสำหรับการรักษาสถานภาพและการขับเคลื่อนกิจการไปเบื้องหน้างานวิจัยและพัฒนาจะเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งขององค์กรในลักษณะเช่นนี้การบริหารธุรกิจกับงานวิจัยและพัฒนา จะเป็นส่วนประกอบขององค์กรเดียวกัน โดยค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนาก็เป็นส่วนหนึ่งของ "การสะสมทุน" (capital formation) ของกิจการ
 
          ภารกิจของหน่วยงานวิจัยและพัฒนา จะมุ่งตอบสนองความต้องการของการผลิตและการตลาดโดยตรง โดยมีเป้าหมายที่กำหนดเอาไว้ในแผนธุรกิจ ซึ่งจะต้องพยายามให้บรรลุภายในขอบเขตและกรอบเวลา ผลจากงานวิจัยและพัฒนาจะเป็นตัวกำหนดสถานภาพของธุรกิจ
 
          แต่สำหรับธุรกิจขนาดเล็กและขนาดย่อมนั้นทั้งการสร้างนวัตกรรมและการเชื่อมโยงนวัตกรรมเข้ากับการผลิตและการตลาดเป็นสิ่งที่ยากยิ่งและไม่มีทางที่จะส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดขึ้นได้เพียงการชี้แนะและชักชวน หรือแม้กระทั่งด้วยการโน้มน้าวการตัดสินใจโดยแลกกับสิทธิประโยชน์ ทั้งนี้ เพราะประเด็นมิได้อยู่ที่ตรงนั้น ถ้าแม้นจะใช้ "นวัตกรรม" เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ จำเป็นจะต้องทำความเข้าใจในบรรดาสิ่งที่เป็น "prerequisite" สำหรับการนี้
 
          ก่อนอื่นจะต้องเข้าใจว่าการที่ "บางสิ่ง" จะเกิดขึ้นได้นั้น จำเป็นจะต้องมี "บางสิ่ง" อยู่ตรงนั้นเสียก่อน เช่น จะทำฝนเทียมได้ ท้องฟ้าก็จะต้องมีเมฆ หรือจะให้มีความสงบสุขในชุมชน ผู้คนก็จะต้องเคารพกฎหมาย เป็นต้น ในหลายกรณีจำเป็นจะต้องมีความพร้อมก่อน กว่าที่จะสามารถบันดาลให้เกิดบางสิ่งบางอย่าง
 
          นอกจากกรณีของธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมต่อเนื่องมายาวนานอีกทั้งกรณีของภาคเกษตรกรรมที่ชาวไร่ชาวนาประกอบการภายใต้การดูแลของภาครัฐเป็นส่วนใหญ่แล้ว ก็เห็นจะมีแต่เฉพาะ "ธุรกิจบริการ" เท่านั้น ที่มีขีดความสามารถในการสร้าง "นวัตกรรม" เพราะในปัจจุบัน เมืองไทยมีขีดความสามารถในการพึ่งตนเองได้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในระดับพอสมควร อีกทั้งเป็นนวัตกรรมที่มีค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนาไม่สูงนัก สำหรับธุรกิจอุตสาหกรรมขนาดเล็กและขนาดย่อมที่ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการผลิตสินค้า ยังไม่มีความพร้อมสำหรับนวัตกรรม
 
          สิ่งที่จะต้องปรากฏในอันดับแรกที่สุด คือ "ผู้ประกอบการ" ธุรกิจอุตสาหกรรมนั้น ๆ จะต้องเป็นบุคคลที่มี "จิตสำนึกทางวิทยาศาสตร์" มิใช่ผู้ประกอบการที่สนใจแค่เฉพาะการค้าขายและการทำผลกำไร ซึ่งเป็นคุณลักษณะของผู้ประกอบการทั่วไป 
 
         "จิตสำนึกทางวิทยาศาสตร์" หมายถึงความเชื่อในวิทยาศาสตร์และการใช้วิทยาศาสตร์ในการดูแลแก้ไขปัญหา สำหรับผู้ประกอบธุรกิจก็คือปัญหาว่าด้วยการผลิตและการตลาด กล่าวคือจะผลิตอะไร, อย่างไร และสนองความต้องการของใคร จะต้องคิดอย่างวิทยาศาสตร์และใช้วิทยาศาสตร์ 
 
นวัตกรรม เกิดจากจิตสำนึกทางวิทยาศาสตร์ และจิตสำนึกดังกล่าวนี้ก็คือสะพานทางความคิดที่จะเชื่อมโยงกับการวิจัยและพัฒนา นักอุตสาหกรรมไทยหลายคนทั้งในอดีตและในปัจจุบัน มีจิตสำนึกที่ว่านี้อย่างบริบูรณ์
 
           อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าเสียดายว่าท่านเหล่านี้ต้องต่อสู้ในฐานะผู้ที่เสียเปรียบกับกรอบความคิดระดับรัฐที่ไม่สนับสนุนให้อุตสาหกรรมไทยเพิ่มระดับขีดความสามารถในการพึ่งตนเองทางเทคโนโลยีและแยกไม่ออกระหว่างสินค้าอุตสาหกรรมที่ไทยผลิตและที่ผลิตในประเทศไทยด้วยเหตุนี้ แม้เมืองไทยจะมีการพัฒนาอุตสาหกรรมในระดับหนึ่ง
 
หากก็ยังอยู่อีกไกลที่จะเป็นประเทศอุตสาหกรรม
 
           "นักวิจัย" เป็นนักวิชาการที่ทำการศึกษาค้นคว้าทางวิชาการ ที่จะให้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่งมากขึ้นในอันที่จะปรับปรุงสิ่งเดิมและพัฒนาสิ่งใหม่ ๆ แต่นักวิจัยมิใช่ผู้ประกอบการ (entrepreneur) ผู้ซึ่งมีจิตสำนึกในการแปรผลงานวิจัยไปสู่การผลิต ที่จะสนองความต้องการในเชิงพาณิชย์ การบังคับให้ผู้ประกอบการมีจิตสำนึกทางวิทยาศาสตร์กระทำมิได้ฉันใด การบังคับให้นักวิจัยมีความคิดในเชิงพาณิชย์ ก็ทำมิได้ฉันนั้น
 
            อย่างไรก็ตาม เนื่องจากผู้ประกอบการคือบุคคลที่ตัดสินใจในการใช้การวิจัยและพัฒนา (R & D) เพื่อบรรลุถึงนวัตกรรมในการผลิต ดังนั้น กระบวนการเชื่อมโยงระหว่างการวิจัยกับนวัตกรรมจึงต้องเริ่มที่ผู้ประกอบการ และสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องการก็คือ "จิตสำนึกทางวิทยาศาสตร์" มิใช่ "สุนทรพจน์การตลาด" หรือ "สิทธิประโยชน์"
 
            ในอีกด้านหนึ่ง การวิจัยและพัฒนาที่จะสนองความต้องการของผู้ประกอบการ จะต้องเป็นการวิจัยและพัฒนาที่ต่อเนื่อง ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ไม่หยุดยั้งในโลกกว้าง บังคับให้ผู้ประกอบการต้องแสวงหานวัตกรรมจากการวิจัยอยู่ตลอดเวลา ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ จึงเป็นความชอบธรรมที่ผู้ประกอบการภายในประเทศจะต้องพึ่งพานวัตกรรมจากภายนอก ซึ่งมีอยู่ตลอดเวลาและเชื่อถือได้ แทนที่จะแขวนชะตากรรมทางธุรกิจอยู่กับงานวิจัยภายในประเทศ ซึ่งความแน่นอนในผลสำเร็จด้อยกว่า และปราศจากความต่อเนื่อง ประเด็นข้างต้นนี้มีความสำคัญยิ่งไปกว่าจำนวนเงินที่จะต้องใช้ไปในการวิจัยและพัฒนา
 
            คำถามก็คือในบริบทการใช้นวัตกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจซึ่งดูจะเป็นยุทธศาสตร์ของชาติในปัจจุบันรัฐพึงจะมีหน้าที่ความรับผิดชอบอย่างไร ซึ่งแน่นอนที่สุด คงจะไม่ใช่การกล่าวสุนทรพจน์ที่เร้าใจ ตลอดจนการเสนอให้สิทธิประโยชน์ ที่มิใช่การตอบโจทย์ สิ่งที่สมควรจะกระทำในระดับที่เป็น "วาระแห่งชาติ" คือการปลูกฝัง "จิตสำนึกทางวิทยาศาสตร์" (scien-tific mindedness) ให้กับสังคมไทยอย่างจริงจัง โดยผ่านการศึกษาและวัฒนธรรม ขณะเดียวกันก็ทุ่มเททะนุบำรุงวิทยาศาสตร์ ทั้งในการเรียนการสอนและในการวิจัย โดยมุ่งผลิตบุคลากรด้านดังกล่าวนี้ทุกระดับ ทั้งปริมาณและคุณภาพ ซึ่งส่วนหนึ่งจะไปเป็นนักวิจัย และอีกส่วนหนึ่งจะไปเป็นผู้ประกอบการ
 
ที่มา : http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1458795515
คุณอยู่ที่: หน้าแรก จิตสำนึกวิทยาศาสตร์ สร้างการวิจัย และนวัตกรรม